นโยบาย

 แนวทางการพัฒนาสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 ในอนาคต

          จากการปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งนายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 ครบวาระผมพบความจริงหลายประการ อาทิเช่น ความเป็นอิสระที่แตกต่างกับการบริหารจัดการอุดมศึกษา โดยเฉพาะเรื่องการบริหารงานทั่วไป ซึ่งประกอบด้วยการบริหารงานบุคลากรสายวิชาการ และสายสนับสนุน การบริหารด้านการเงิน งบประมาณ รายได้ และส่วนที่เกี่ยวข้องยังไม่เป็นอิสระ ขาดความชัดเจน แต่การบริหารที่สามารถบริหารจัดการได้ คือ ด้านวิชาการ พบว่ามีการบริการวิชาการวิชาชีพสู่ชุมชน ท้องถิ่นอย่างเป็นรูปธรรม มีสิ่งประดิษฐ์ งานวิจัยที่ต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับสถานประกอบการ ในการพัฒนาคนเข้าสู่โลกการทำงานหรือการประกอบอาชีพอย่างชัดเจน รวมถึงมีการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนตามเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (ปวช.และปวส.) และเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (ปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือสายปฏิบัติการ) ซึ่งหลักสูตรภาพรวมของอาชีวศึกษาเป็นแบบ Talent Mobility นำครู นักเรียนฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบการ มีการร่วมกันจัดทำแผนการฝึกสมรรถนะ หรือเขียน Work Instruction ร่วมกัน แล้วหาองค์ความรู้ใหม่ไปพร้อมกัน ส่งเสริมให้เกิดการมีรายได้ระหว่างเรียน สร้างทักษะ ความรู้และประสบการณ์ให้ครู และผู้เรียนซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและจำเป็นอย่างมาก สำหรับการเรียนระบบอาชีวศึกษา ซึ่งสามารถบริหารจัดการสร้างผลงานเชิงนวัตกรรม วิจัยเพื่อให้เกิดรายได้ หรือแปลงเป็นสินทรัพย์ได้โดยการใช้ประโยชน์จากการจดสิทธิบัตรหรือการใช้พื้นที่ของวิทยาลัยในสังกัดให้เกิดประโยชน์

          ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาต้องการให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาให้นโยบายด้านการบริหารจัดการตามพระราชบัญญัติการอาชีวศึกษา พ.ศ. ๒๕๕๑ เพื่อให้เกิดความอิสระในการบริหารจัดการทั่วไป และการบริหารจัดการด้านวิชาการ สร้างความเชื่อมั่นให้ครู ทั้งด้านความก้าวหน้าในวิชาชีพ ผลตอบแทน สร้างระบบการบริหารจัดการองค์กร เพื่อความเข้มแข็ง มีระบบการเงินและทรัพย์สินที่ถูกต้องและได้ประโยชน์ชัดเจนตามระเบียบกระทรวงการคลัง โดยคำนึงถึงองค์กรเป็นหลักใช้หลักธรรมาภิบาล ความรู้รักสามัคคี นิติธรรม คุณธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีส่วนร่วม คุ้มค่า และคุ้มทุน